ตับหลาม ๓

Glyptopetalum quadrangulare Prain ex King

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม อาจมีปีกหรือเป็นสัน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกสีเหลืองอมเขียวหรือสีแดงอมม่วงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น สีแดงเรื่อ เป็นร่องตื้นตามยาว มีแกนกลางผลติดทน เมล็ดสีน้ำตาลอมแดง รูปทรงรีกว้าง มี ๔ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเมล็ดเพียงบางส่วน สันขั้วเมล็ดแยกเป็น ๓-๖ แถบ

ตับหลวมชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๗ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม อาจมีปีกหรือเป็นสัน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีถึงรูปใบหอกแกมรุปรี กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๗-๒๑ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้นถึงเรียวแหลมอาจเรียวยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. โคนรูปลิ่มหรือมนกลมขอบหยักมนถี่หรือจักฟันเลื่อย ยกเว้นช่วงกลางใบถึงโคนใบขอบเรียบ แผ่นใบต่อนข้างหนาถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบน เนื้อใบยับย่นเล็กน้อย ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง พบน้อยที่ออกตามปลายกิ่ง บางครั้งอาจแยกแขนงใกล้โคนช่อ คล้ายออกเป็นกระจุก ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. มักเป็นง่ามที่ยอด ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๘.๕ ซม.ใบประดับเล็ก ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. สีเหลืองอมเขียวหรือสีแดงอมม่วงเข้ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายเป็นแฉก รูปคล้ายไต กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ มม. บรเวณขอบบางกว่าและเป็นคลื่น จานฐานดอกรูปสี่เหลี่ยมแบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ติดอยู่ใกล้โคนรังไข่ รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ฝังอยู่ในจานฐานดอก ส่วนที่อยู่เหนือจานฐานดอกยาวประมาณ ๕ มม. รูปพีระมิดมี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีแดงเรื่อ มี ๔ ช่อง เป็นร่องตื้นตามยาว เมื่อแห้งแตกเป็นเสี่ยงหลุดออกจากแกนกลางผล แกนกลางผลติดทน เมล็ดสีน้ำตาลอมแดง รูปทรงรีกว้าง กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. มี ๔ เมล็ด ไม่มีปีก มีเยื่อหุ้มเมล็ดบางส่วน สันขั้วเมล็ดแยกเป็น ๓-๖ แถบ

 ตับหลามชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบหรือป่าผลัดใบ พบบ้างที่ขึ้นตามเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับหลาม ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glyptopetalum quadrangulare Prain ex King
ชื่อสกุล
Glyptopetalum
คำระบุชนิด
quadrangulare
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Polhill, Roger Marcus
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Polhill, Roger Marcus (1937-)
- King, George (1840-1909)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์